วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555


โครงสร้างแฟ้มสะสมงานอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้เรียน
ประกอบ กรณีกิจ (๒๕๕๒) ได้นำเสนอโครงสร้างแฟ้มสะสมงานสำหรับผู้เรียน โดยมีโครงสร้างหลัก ๔ ส่วน ได้แก่ ส่วนนำ ส่วนเนื้อหา ส่วนการประเมินผลงาน และภาคผนวก
๑.ส่วนนำ ประกอบด้วย หน้าปก (โฮมเพจ) ประวัติของผู้พัฒนาแฟ้มสะสมงานอิเล็กทรอนิกส์ และจุดมุ่งหมายหรือจุดประสงค์ของการพัฒนาแฟ้มสะสมงานอิเล็กทรอนิกส์


                                        ตัวอย่างหน้าปก (โฮมเพจ)
๒.ส่วนเนื้อหา ได้แก่ ผลงานที่สร้างขึ้นจากการเรียนรู้ ซึ่งมีความหลากหลายในแต่ละสาขาวิชา เช่น รายงานหรือผลการค้นคว้าข้อมูล ภาพการทดลองและผลการทดลอง การบ้านประจำสัปดาห์ และผลงานทางศิลปะ เป็นต้น ทั้งนี้ผลงานที่จัดเก็บจะอยู่ในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ที่เหมาะสมกับ เนื้อหาของผลงาน ได้แก่ ไฟล์เอกสาร ไฟล์งานนำเสนอ ไฟล์ภาพนิ่ง ไฟล์ภาพเคลื่อนไหว ไฟล์เสียง และไฟล์วิดีโอ เป็นต้น
                                         ตัวอย่างส่วนเนื้อหา
๓. ส่วนการประเมินผลงาน ได้แก่ บันทึกการสะท้อนความคิดต่อผลงานของตนเอง บันทึกการประเมินตนเอง บันทึกการให้ข้อมูลป้อนกลับและการประเมินจากอาจารย์ผู้สอนหรือผู้ช่วยสอน และบันทึกการให้ข้อมูลป้อนกลับและการประเมินจากเพื่อนร่วมชั้น

ตัวอย่างบันทึกการสะท้อนความคิดต่อผลงานของตนเองและตัวอย่างบันทึกการประเมินตนเอง
๔. ภาคผนวก ได้แก่ เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรายวิชา แต่ไม่ใช่ผลงานของผู้เรียน เช่น ประมวลรายวิชา และเอกสารประกอบการสอน เป็นต้น

                                                                                                ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 อาจารย์ ดร.ประกอบ กรณีกิจ  (๒๕๕๒)

วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555



เรื่อง   ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต

                เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีจิตสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
                (ประมวลและกลั่นกรองจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพระราชทานในวโรกาสต่างๆ รวมทั้งพระราชดำรัสอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำไปเผยแพร่ เมื่อวันที่  29 พฤศจิกายน 2542 เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายและประชาชนโดยทั่วไป)
นิยามของความพอเพียง  ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะ พร้อมๆ กัน ดังนี้
     ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
     ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆอย่างรอบคอบ
     การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น  โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
เงื่อนไข  การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้และ
คุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ
     เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
     เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้าง ประกอบด้วยมีความตระหนักในคุณธรรม เช่น มีความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต ไม่โลภ และไม่ตระหนี่
แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับ
      จากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี

ที่มา
  หนังสือเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร
  จัดทำโดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง
  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ